อะโวคาโด้ เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาด กลางถึงใหญ่ แม้ว่าจะถูกจัดเป็นไม้ไม่ผลัดใบแต่บางสายพันธุ์จะทิ้งใบช่วงสั้น ๆ ระหว่างออกดอก ทรงพุ่มอาจเป็นพุ่มต่ำ ทึบ สมมาตร หรือสูงชะลูด และไม่สมมาตร กิ่งเปราะ หักง่ายเมื่อโดนลม หรือเมื่อติดลูกมาก ๆ
ใบ
ใบยาว 3-6 นิ้ว รูปใบมีหลายแบบ ทั้งทรงรีรูปไข่ รีกว้างรูปไข่ และใบหอก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยมากใบอ่อนมักมีขน และสีออกแดง ส่วนใบแก่มักเรียบ สีเขียวเข้ม
ดอก
ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย) สีเขียวอมเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.3 ซ.ม.
ผล
ผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ หุ้มด้วยเนื้อผลที่มีลักษณะเหมือนเนย (buttery pulp) เปอร์เซ็นต์ไขมันในเนื้อมีตั้งแต่ 3-25% ผิวของเปลือกผล อาจเรียบหรือขรุขระ เมือสุกอาจเป็นสีเขียว ดำ ม่วง หรือ ออกแดงขึ้นกับสายพันธุ์ ทรงผล มีตั้งแต่ รูปทรงรี หรือคล้ายปีรามิด ผลโดยมากมักจะไม่สุกจนกว่าจะร่วง หรือถูกเด็ด ออกจากต้น โดยมาก การเก็บเกี่ยวผลจะดูจากช่วงเวลาและขนาดของผล เป็นหลัก
การปลูกอะโวคาโด้
อะโวคาโด้ เป็นพืชชอบดินระบายน้ำดี ไม่ทนน้ำท่วมขัง ควรปลูกในที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง หรือควรยกร่องปลูก ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน แต่สามารถปลูกได้ทั้งปี ถ้ามีระบบชลประทาน ระยะปลูก 8×6 เมตร ถึง 8×8 เมตร สำหรับพันธุ์ รูเฮิล (Ruehle), ปีเตอร์สัน (Peterson), แฮส (Hass), และ บัคคาเนีย (Buccanaer) และ 8×10 สำหรับพันธุ์ บูธ 7 (Booth 7), บูธ 8 (Booth 8) และ ฮอล (Hall)
การปลูก ก่อนปลูกให้นำต้นพันธุ์ ออกไว้กลางแจ้ง เพื่อปรับสภาพสัก 2-3 วัน ขุดหลุมขนาดกว้างกว่าดินที่มากับต้นพันธุ์ เล็กน้อย นำต้นลงปลูกโดยให้โคนต้นสูงเท่ากับหรือสูงกว่าระดับผิวดินเล็กน้อย เพื่อป้องกันปัญหาโคนเน่า กลบดิน แล้วใส่ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 1 กำมือ โรยบนดิน ค้ำต้นด้วยไม้ไผ่ ใช้ฟาง แกลบ หรือเศษไม้ คลุมรอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น ให้น้ำทุกวันวันละ 15 ลิตร หรือวันเว้นวัน วันละ 30 ลิตร จนถึงอายุประมาณ 1 ปี จึงลดการให้น้ำเหลือ สัปดาห์ละครั้ง สำหรับต้นใหญ่ให้น้ำทุก 15 วัน การป้องกันโคนต้นเน่า ให้ โรยสาร Super Voga บาง ๆ รอบโคนต้น อาจใช้ร่วมกับสารเคมี เมทเทลซิล (Metalexyl) 100 กรัม หรือ ไรโดมิล (Ridomil) 50 กรัม ต่อต้นทุก 3 เดือน หรือใช้ ชีวภัณฑ์ กลุ่ม ไตรโคเดอร์มา หรือ บาซิลลัส
การให้ปุ๋ย ให้ปุ๋ย ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแตสเซียม (K) ในอัตราส่วน 3-1-1 โดยผสมปุ๋ยยูเรีย 1 ส่วนต่อปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15) 2 ส่วน สลับกับปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ ปริมาณปุ๋ยในปีแรก เริ่มให้หลังปลูก 2 เดือน ให้ปุ๋ย ต่อต้นประมาณ 200 กรัม ทุก 3 เดือน ปีที่ 2 ให้ 400 กรัม สำหรับ ปีที่ 3 หรือปีต่อ ๆ ไปซึ่งเป็นช่วงที่อะโวคาโดให้ผลผลิต ให้ปุ๋ย ปริมาณ 500 กรัม ช่วงต้นฝนกับกลางฝน ช่วงปลายฝน งดให้น้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอก
การใส่ ปุ๋ยอินทรีย์โวก้า เสริมสารแอคทีฟซิลิคอน นั้นเป็นประโยชน์มากต่อต้นอะโวคาโด้ เนื่องจากแอคทีฟซิลิคอน จะถูกอะโวคาโด้ดูดเข้าไปสะสมตามผนังเซลของพืชทำให้ ต้นอะโวคาโด้ ต้านทานโรคเน่าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ แอคทีฟซิลิคอนยังช่วย ปรับสภาพดินบริเวณรากให้ร่วนซุย ทำให้น้ำ อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้นเป็นการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบรากอีกทางหนึ่ง
สำหรับอะโวคาโด้ที่เสียบยอดนั้น ถ้าดูแลดีจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 ส่วนอะโวคาโด้เพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 8 หากต้นยังไม่โตพอ ในช่วงปีแรก ๆ ควรปลิดผลทิ้งเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางต้นให้เต็มที่เสียก่อน
การตัดแต่งกิ่ง เมื่ออะโวคาโด้มีความสูงเลยเข่าขึ้นมาให้ตัดยอดทิ้งให้เหลือแต่ตอ จะทำให้อะโวคาโด้แตกยอดขึ้นมาใหม่ 3-4 ยอด ในช่วงการเจริญเติบโต ให้ตัดกิ่งแห้ง เป็นโรค กิ่งทับซ้อนกัน กิ่งบังแสง กิ่งกระโดง ออก โดยเน้นให้แผ่ไปด้านข้าง และตัดให้ทรงต่ำเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว การตัดแต่งกิ่งจะทำอีกครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยตัดกิ่งแห้ง เป็นโรค และช่อของกิ่งผล (ควั่น) ที่ติดอยู่บนต้น หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วก็ให้ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย เพื่อบำรุงต้น
โรคที่สำคัญในอะโวคาโด คือโรครากเน่า เมื่อเกิดแล้วบริเวณปลายกิ่งจะเหี่ยวจนถึงโคนต้น ป้องกันโดยการระบายน้ำให้ดี และใช้ต้นตอทนโรค คือพันธุ์ Duke-7 สำหรับกิ่งพันธุ์ในโรงเรือน ผสม เด็กซอน (Dexon) 20ppm ใส่ในน้ำรดกิ่งพันธุ์ อีกโรคคือ โรคแอนแทรกโนส ซึ่งเข้าทำลายได้ทั้งใบและผล จะสังเกตุได้จากจุดสีน้ำตาล บริเวณใบ การป้องกัน เมื่อมีการแตกใบอ่อนแล้วให้ฉีด คาร์เบนดาซิน หรือไซเปอร์เมททริน เพื่อป้องกันโรค แมลง
การผสมเกสรของอะโวคาโด้
โดยปกติ ดอกของอะโวคาโด้เมื่อบานครั้งแรกจะยังไม่พร้อมผสมพันธุ์ แต่จะพร้อมผสมพันธุ์เมื่อบานครั้งที่ 2 เราสามารถแบ่งสายพันธุ์ อะโวคาโด้ ได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการบานของดอก คือ
กลุ่ม A : มีการบานของดอกคือจะบานครั้งแรกในตอนเช้า เกสรตัวเมียนั้น พร้อมรับละอองเกสร แต่ตัวเกสรตัวผู้นั้นไม่พร้อมผสม ดอกจะหุบในตอนเที่ยงและบานอีกครั้งในในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้นเกสรตัวผู้และตัวเมียจึงพร้อมผสม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 30 ชั่วโมง (ค่อนข้างนาน) ทําให้อะโวกาโดในกลุ่มนี้จึงติดผลยากได้แก่ พันธุ์แฮส (Hass) พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) ปีเตอร์สัน (Peterson) ลูล่า(Lula) มอนโร(Monroe) ปากช่อง 1-14 ปากช่อง 2-4 ปากช่อง 2-6 เป็นต้น
กลุ่ม B : มีการบานของดอกคือจะบานครั้งแรกในตอนบ่าย เกสรตัวเมีย นั้นพร้อมรับละอองเกสร แต่ตัวเกสรตัวผู้นั้นไม่พร้อมผสม และดอกจะบานอีกครั้งในในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เกสรตัวผู้และตัวเมียจึงพร้อมผสม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง (ระยะเวลาสั้นกว่า) ทําให้อะโวกาโดในกลุ่มนี้จึงติด ผลได้ค่อนข้าง ดีกว่า ได้แก่ พันธุ์ บัคคาเนีย (Buccanaer) บูธ 7 (Booth 7) บูธ 8 (Booth 8) เฟอร์เต้ (Fuerte) ฮอล (Hall) รูเฮิล (Ruehle) ปากช่อง 2-8 ปากช่อง 2-5 ปากช่อง3-3 เป็นต้น
การผสมพันธุ์ในต้นเดียวกันจะใช้ลมเป็นหลัก ส่วนการผสมข้ามต้นจะใช้แมลง เช่นผึ้ง มดตะนอย เป็นหลัก หากต้องการเพิ่มการติดผลของอะโวคาโด้ โดยเฉพาะสายพันธุ์กลุ่ม A ควรปลูก พันธุ์กลุ่ม A ร่วมกับ กลุ่ม B เช่นปลูกพันธุ์ Hass ร่วมกับ Fuerte แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว เกษตรกรก็จะปลูกแค่พันธุ์ Hass เพียงอย่างเดียว เนื่องจากสายพันธุ์กลุ่ม B นั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก การปลูกพันธุ์กลุ่ม B ทำให้ต้องลดจำนวนต้นของพันธุ์หลักกลุ่ม A ลง แม้ผลผลิตจะได้เพิ่ม แต่ผลผลิตของพันธุ์กลุ่ม B ที่ขายไม่ได้ราคา ก็อาจจะไม่คุ้มค่า
พันธุ์อะโวคาโด
พันธุ์อะโวคาโดที่รสชาติดีนั้น เป็นพันธุ์ที่มี เปอร์เซ็นต์ไขมันค่อนข้างสูง ถึงสูง โดยพันธุ์ แฮส (Hass) มีไขมัน ประมาณ 18-25% เฟอร์เต้ (Fuerte) มีน้ำมัน 14-18% และพันธุ์ บัคคาเนีย มีน้ำมัน 12-14% ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวจะมีผลต่อปริมาณไขมันมาก โดยผลอะโวคาโดที่อายุมากขึ้นจะสะสมไขมันมากขึ้นตามลำดับ
พันธุ์แฮส (Hass)
ใบแหลมเรียว ใบออกห่าง ๆ กัน ผลรูปแพร์ ผิวขรุขระมาก ผิวสีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ผลมีขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 200-300 กรัม เนื้อสีเหลือง เมล็ดเล็กถึงขนาดกลาง เปลือกผลค่อนข้างหนา ทนทานต่อการขนส่ง พันธุ์นี้ยังมีข้อดีอีกประการคือ เมื่อผลแก่แล้ว ก็ยังสามารถเลี้ยงอยู่บนต้นได้อีกนานหลายเดือน ช่วงเก็บเกี่ยวผลเดือนธันวาคม –กุมภาพันธ์ มีไขมันสูงมาก คือ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า เป็นพันธุ์การค้าอันดับ 1 ของโลก พันธุ์นี้ผลมีราคาแพงมากที่สุด แต่ให้ผลดีในที่อากาศเย็น พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมควรสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตรขึ้นไป ระยะปลูกที่แนะนำคือ 8×8 เมตร
บูช 7 (Booth-7)
ใบใหญ่เป็นมัน ผลค่อนข้างกลมป้าน ขนาดประมาณ 3 ผลต่อกิโลกรัม ผิวผลค่อนข้างขรุขระ สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน เมล็ดขนาดกลาง เมื่อสุกผลมักจะตกกระ มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลประมาณวันที่ ตุลาคม ถึง ธันวาคม อายุ 5 ปี 249 ผลต่อต้น พันธุ์นี้ให้ผลผลิตดก ลำต้นขนาดใหญ่ ค่อนข้างทนต่อโรค แต่ผลรสชาติปานกลาง
ปีเตอร์สัน (Peterson)
เป็นพันธุ์เบา ให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่น ๆ คือประมาณเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ลักษณะผลกลม ใบเรียงซ้อนกันถี่ ๆ และเป็นมัน ใบอ่อนสีแดง ผลมีลักษณะกลม
เฟอร์เต้ (Fuerte)
ลำต้นขนาดใหญ่ และแผ่กว้าง ผลรูปแพร์ ผิวขรุขระเล็กน้อย ผิวสีเขียวเข้ม เนื้อสีเหลืองครีม เมล็ดขนาดกลาง น้ำหนักผลประมาณ 150-300 กรัม รสชาติดีมาก แต่ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรค เปลือกผลบางทำให้ไม่ทนทานต่อการขนส่ง ชอบอากาศเย็น แต่ไม่หนาว อากาศร้อนหรือหนาวเกินไปจะทำให้การออกดอกน้อยและไม่สม่ำเสมอ เป็นพันธุ์กลุ่ม B ควรปลูกพันธุ์กลุ่ม A ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มการติดผล ช่วงเก็บเกี่ยวผลเดือนตุลาคม – ธันวาคม เป็นพันธุ์การค้าของโลก รอง ๆ จากพันธุ์ แฮส
บัคคาเนีย (Buccaneer)
ผลมนรี ผลมีขนาดใหญ่ ถึง 3-4 ผลต่อกิโลกรัม ใบกว้างผิวใบไม่มัน ยอดเขียว ผลแก่จะเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง ผลดก ดูแลง่าย ขนาดต้นใหญ่และแผ่กว้าง ระยะปลูกที่แนะนำคือ 10×10 เมตร
พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton)
ขนาดต้นค่อนข้างเล็ก ใบเรียวยาว และจะสั้นกว่าพันธุ์ Hass ผลผิวขรุขระ ผลแก่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวเข้ม รสขาติมัน เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ใกล้เคียงพันธุ์ Hass แต่มีข้อดีคือ ผลใหญ่กว่าแฮส และเมล็ดมีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักผลประมาณ 3 ผลต่อกิโลกรัม ผลดก สามารถปลูกในพื้นที่สูงน้อยกว่าพันธุ์ Hass คือประมาณ 300-400 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และขนาดต้นที่เล็ก ทำให้จำนวนต้นที่ปลูกต่อไร่มีมากกว่า พันธ์ุนี้มีข้อด้อยกว่าพันธุ์แฮส ตรงที่ผลแก่ไม่สามารถเลี้ยงอยู่บนต้นได้นานเท่าแฮส ทำให้ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
โดยธรรมชาติแล้วอะโวคาโด จะไม่สุกบนต้น แต่จะสุกหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลออกจากต้นแล้ว ปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่า หลังจากเก็บผลจากต้นแล้ว เราต้องทิ้ง หรือบ่ม อะโวคาโดไว้ที่อุณหภูมิห้อง 1 สัปดาห์ก่อนนำมารับประทาน
การเก็บ ผลอะโวคาโด ที่อ่อนเกินไป นอกจากจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อยแล้ว ยังทำให้ ไม่สามารถบ่มอะโวคาโดให้สุกได้ คือผลอาจจะเน่าไปเลยโดยที่ยังไม่สุก ดังนั้นเกษตรกรควรมีหลักในการสังเกตุเพื่อเก็บผลผลิตที่แก่เพียงพอ นอกจากนี้ เรายังสามารถ ทิ้งผลอะโวคาโด ที่แก่ ให้อยู่บนต้นได้อีกระยะหนึ่ง หากเก็บไม่ทัน หรือต้องการรอเวลา แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ด้วย
การเก็บผลต้องให้ขั้วผลติดกับผลด้วย เพราะหากขั้วผลหลุดจากผล จะทำให้ผลเสียหายง่ายขณะบ่มให้สุก วิธีหนึ่งในการตรวจสอบว่าผลอะโวคาโด พร้อมเก็บเกี่ยวหรือไม่ ให้เก็บผลจากจุดต่าง ๆของต้น มา 6-8 ผล จากนั้น ผ่าผลเพื่อดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด แสดงว่าผลแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ ทั้งนี้ต้องระวังด้วยว่า อะโวคาโด อาจมีการออกดอก 2 ชุด ทำให้ผลในต้นเดียวกัน แก่ไม่เท่ากัน ควรตรวจสอบจากลักษณะผลภายนอกด้วย ตามข้อมูลในตารางด้านล้างนี้
สายพันธุ์ | ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว | อายุผล (วัน)* | ลักษณะผล |
1. ปีเตอร์สัน (Peterson) | มิถุนายน – กรกฎาคม | 160 | ผลที่แก่และขั้วผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเขียวปนเหลือง เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 22.2% |
2. บูช-7 (Booth 7) | กลางกันยายน – ตุลาคม | 170 | ผลที่แก่จะมีนวลที่ผิวผล สีผิวผลเป็นสีเขียว เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 14.8% |
3. บูช-8 (Booth 8) | กันยายน – ตุลาคม | 177 | ผลที่แก่จะมีนวลที่ผิวผล สีผิวผลเป็นสีเขียว เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 16.5% |
4. บัคคาเนีย (Buccaneer) | กลางกันยายน – กลางตุลาคม | 180 – 187 | ผลที่แก่จะมีนวลที่ผิวผล สีของผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 17.0% |
5. พิงค์เคอตัน (Pinkerton) | ตุลาคม – ธันวาคม | 309 | ผลที่แก่ผิวผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวเข้ม มีน้ำหนักแห้ง 30.0% |
6. แฮส (Hass) | พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ | 242 – 250 | ผลที่แก่ผิวผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีม่วงปนเขียว มีน้ำหนักแห้ง 24.7-29.0% |
หมายเหตุ * อายุผลหลังจากดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ของช่อดอก
- ข้อมูลจากเวปไซต์ โครงการหลวง
วิธีการบ่มอะโวคาโด ให้สุก
เมื่อเราเก็บ อะโวคาโด จากต้นแล้ว จำเป็นต้องมีการบ่มเพื่อให้สุก ก่อนรับประทาน การบ่มนั้นทำได้ง่ายๆ โดยการทิ้งผลไว้ที่อุณหภูมิห้อง แต่หากต้องการเร่งให้ผลสุกเร็วขึ้น ให้ใส่ผลอะโวคาโดในถุงกระดาษสีน้ำตาล แล้วปิดปากถุง หากไม่มีก็ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้ แล้วทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ระยะเวลาอาจเพียงแค่ 1 คืน หรือหลายวัน ขึ้นกับอะโวคาโดแต่ละผล การทดสอบว่าผลสุกหรือยัง ให้ลองเอามือบีบผลเบา ๆ ถ้าผลบีบได้ ก็แสดงวาสุก หรืออีกวิธีให้กดบริเวณขั้วผลเบา ๆ ถ้ากดได้แสดงว่าสุก
หากผลสุกแล้วให้นำผลอะโวคาโด แช่ตู้เย็นเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ไม่ควรนำผลดิบที่ยังไม่สุกแช่ตู้เย็นเพราะอาจทำให้ผลไม่สุกแล้วเน่าไปเลยก็ได้
การสกัดน้ำมันอะโวคาโด้
หากเรามีผลผลิตอะโวคาโด้ เหลือ หรือผลร่วง ไม่สามารถขายได้ เราสามารถนำผลเหล่านั้นมาสกัดเป็นน้ำมันอะโวคาโด้ได้ ทางเพจเราได้นำเสนอวิธีการง่าย ๆ ทำได้ในครัวเรือน ตามลิงค์ ด้านล่างนี้เลย
ข้อมูลอ้างอิง:
https://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/306