โกโก้ เป็นพืชเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส ต้องการน้ำสม่ำเสมอ พื้นที่ ที่เหมาะสมควรมีฝนตกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หรือควรมีแหล่งน้ำเพียงพอ ดินที่เหมาะสมควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร pH ประมาณ 6.5 โกโก้ชอบดินระบายน้ำดี แต่ก็สามารถทนน้ำท่วมได้ถึง 5 เดือน โกโก้เป็นพืชที่ต้องการร่มเงาพอสมควร โดยเฉพาะต้นที่ยังเล็กอยู่
สายพันธุ์พันธุ์โกโก้ ที่ปลูกสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- ครีโอโล (Criollo) : ผลค่อนข้างใหญ่ สีแดง หรือออกเหลือง เปลือกบาง ผิวขรุขระ ก้นผลแหลม เมล็ดใหญ่สีขาว หรือม่วงอ่อน และมีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ที่อุตสาหกรรมช็อคโกแลตต้องการมาก แต่ไม่ทนต่อโรคแมลง จึงไม่เป็นที่นิยมปลูกในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- พันธุ์ Forastero ลักษณะผลสั้น ผลสุกสีเหลือง ผิวเรียบไม่ขรุขระ มีร่องตื้น ๆ ตามแนวผล ให้ผลผลิตสูงกว่า Criollo แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
- เวสแอฟริกัน อมิโลนาโด (West African Amelonado) : เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน สามารถผสมตัวเองได้ และเมื่อปลูกด้วยเมล็ด มักไม่กลายพันธุ์ ทนทานต่อโรค แมลงได้ดี แต่มักอ่อนแอต่อโรค ยอดแห้งและกิ่งแห้ง โกโก้พันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ลักษณะของผลมีสีเขียว ค่อนข้างยาว เมื่อแก่มีสีเหลือง เปลือกหนา ก้นมน เมล็ดสีม่วงเข้ม ค่อนข้างแบน
- อัพเปอร์ อเมซอน (Upper Amazon): ผลสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง เมล็ดสีม่วงเข้ม ให้ผลผลิตสูงกว่า และเร็วกว่า พันธุ์อมิโลนาโด
- ทรีนิ ตาริโอ (Trinitario) : เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Amelonado กับ Criollo คุณภาพเมล็ดสูงกว่าพันธุ์ อมิโลนาโด และต้านทานโรค แมลง แต่ผลผลิตต่ำกว่า Forastero และเป็นพันธุ์ที่ต้องการผสมข้ามต้น ขยายพันธุ์โดยการติดตา หรือปักชำ
สำหรับในประเทศไทย มีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสม ออกมาอย่างน้อย 2 สายพันธุ์คือ
- พันธุ์ลูกผสม ชุมพร 1 : ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพเมล็ดดี โดยให้ผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้งสูงสุดตลอดเวลาการทดลอง 13 ปี สูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกประมาณ 31.4% ให้ผลผลิตเฉลี่ย 127.2 กก./ไร่ เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ไขมันสูงประมาณ 57.27% ลักษณะผล ป้อม ไม่มีคอและก้นไม่แหลม ผิวผลเรียบ ร่องค่อนข้างตื้นเมล็ดมีเนื้อในเป็นสีม่วง มีความทนทานต่อโรคกิ่งแห้งค่อนข้างสูง ทนทานต่อโรคผลเน่าดำปานกลาง ลักษณะการผสมเกสร เป็นพวกผสมข้ามต้น ควรปลูกลูกผสมพันธุ์อื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 1 พันธุ์ในแปลงเดียวกัน โดยปลูกคละปนกันไปเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร
- พันธุ์ลูกผสม I.M.1 พัฒนาพันธุ์ โดย ดร.สัณห์ ละอองศรี สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเด่นคือ เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง เหมาะสำหรับปลูกในเขตภาคกลาง เหนือและอีสาน ให้ผลผลิตสูง เริ่มออกดอกติดผลและเก็บเกี่ยวได้ในปีที่ 3 หลังจากปลูก เมล็ดแห้งมีขนาดและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด เมล็ดมีปริมาณไขมันสูงเฉลี่ย 52 เปอร์เซ็นต์
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์โกโก้ สามารถทำได้ทั้งการติดตา ทาบกิ่ง แต่เที่กษตรกรไทยนิยมมากที่สุดคือการเพาะเมล็ด
การปลูก
โกโก้ เป็นพืชที่ทนร่มเงา และไม่ชอบแดดจัดเกินไป การปลูกโกโก้ นั้น นิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าว เพราะปริมาณแสงแดดที่โกโก้ได้รับจะเหมาะสมพอดี ไม่มากและน้อยเกินไป และโกโก้มีระบบรากลึก ไม่แย่งอาหารกับมะพร้าว ระยะปลูก ที่ให้ผลผลิตดีกรณีปลูกโกโก้เดี่ยว ๆ คือ 3×4 เมตร แต่ในมาเลเซียมีการปลูกมะพร้าว ระยะ 9×9 ม. แซมด้วยโกโก้ ระยะ 3×3 ม. ซึ่งได้ผลดี โดยรายได้ของโกโก้ จะเป็น 2 เท่าของรายได้จากมะพร้าว และยังทำให้ผลผลิตมะพร้าวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย การปลูกโกโก้ในสวนมะพร้าว ต้องปลูกต้นโกโก้ห่างจากต้นมะพร้าวอย่างน้อย 2 เมตร
หากมะพร้าวมีอายุมาก และต้นสูง แสงแดดอาจมากเกินไปสำหรับต้นโกโก้เล็ก ก็ควรพรางแสงทางมะพร้าว หรือปลูกปอเทืองรอบ ๆ ต้นโกโก้ เพื่อช่วยพรางแสง สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกจากมะพร้าวแล้ว ยังนิยมปลูกโกโก้ แซมสวนปาล์ม สวนยาง และสวนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งการปลูก โกโก้ เป็นพืชเชิงเดี่ยว
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งมีจุดประสงค์หลัก 3 ประการคือ
- การตัดแต่งกิ่งเพื่อสร้างรูปทรงของต้น: กิ่งข้างที่แตกออกจากต้น ในระดับต่ำกว่า 0.5 เมตร ควรตัดออกให้หมด ไว้กิ่งข้างที่สมบูรณ์ ประมาณ 3-4 กิ่งรอบลำต้น หากมีกิ่งกระโดง ขึ้นมาก็ควรตัดออก
- การตัดแต่งกิ่งเพื่อบำรุงรักษา : ควรตัดกิ่งที่คดงอ ซ้อนทับกัน ปลายกิ่งเข้าหาลำต้น กิ่งใกล้กันมาก ๆ กิ่งที่โน้มลงดินมากไป กิ่งฉีกหัก ทั้งนี้เพื่อให้ กิ่งที่ออกผลแข็งแรง และสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต
- การตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันโรค แมลง : หากมีโรค หรือแมลง เช่น โรคกิ่งแห้ง โรคไหม้ หรือแมลงเจาะต้น ก็ควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออกไปทำลายเพื่อป้องกันการระบาด และช่วยไม่ให้กิ่งทึบเกินไป ช่วยให้อากาศถ่ายเท ลดการระบาดของโรค
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งคือ การตัดแต่งใหญ่ ให้ทำช่วงปลายฤดูร้อนก่อนฤดูฝน และการตัดแต่งกิ่งส่วนน้อย ให้ทำปลายฤดูฝน
การใส่ปุ๋ยโกโก้
สำหรับโกโก้ต้นเล็กให้ใส่ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ย 15-15-6 ปริมาณ 40-100 กรัมต่อต้น
สำหรับโกโก้ที่ให้ผลผลิตแล้ว (หลังจากปีที่ 3) ให้ใส่ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 12-12-17 ปริมาณ 100 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งช่วงต้นฝนและปลายฝน
โรคของโกโก้
โรคผลเน่าของโกโก้
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Phytophthora Palmivora
ลักษณะอาการ: เกิดได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ เริ่มแรกจะเกิดจุดใส ๆ ขึ้นที่ผิวของผล ต่อมาจุดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และดำอย่างรวดเร็ว และลามไปทั่วทั้งผล แผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ ในผลแก่ เมล็ดจะแยกจากเปลือก หากแกะเมล็ดออกทันก็จะไม่ถูกเชื้อราทำลาย ส่วนในผลที่ยังไม่แก่ เชื้อจะลุกลามจากเปลือกเข้าไปถึงเมล็ด ทำให้เมล็ดเน่าเสียไปด้วย
การป้องกันและกำจัด
- เก็บฝักที่เป็นโรคออกจากต้น นำไปเผาทำลาย
- ฝักที่แกะเมล็ดแล้ว ไม่ควรกองไว้ ควรกำจัดโดยการเผาเช่นกัน
- ตัดแต่งกิ่งให้พุ่มโปร่ง เพื่อให้แสงและอากาศถ่ายเทสะดวก
- กำจัดวัชพืช ไม่ให้รกเกินไป
- หากเป็นโรค ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีที่มีส่วนผสมของทองแดง ซึ่งเป็นสารกำจัดเชื้อราชนิดดูดซึทเช่น มีทาแลคซิล มีชื่อการค้าเช่น ริโดมิล 5 จี, เอฟรอล-35
โรคกิ่งแห้งของโกโก้
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Oncobasidium theobromae
ลักษณะอาการ: มักเกิดกับกิ่งแก่หรือต้นกล้า กิ่งที่เป็นโรค เริ่มแรกจะเห็นเส้นกลางใบ ใบเหลืองซีด และมีจุดเขียวกระจายทั่วไป และแห้งเป็นสีน้ำตาลในเวลาต่อมา บริเวณรอบ ๆ แผลสีน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและใบร่วงหล่นในที่สุด ใบที่อยู่บนหรือล่างจากใบที่ร่วง ก็จะเป็นสีเหลือง ทยอยร่วงหล่นลง กิ่งที่เป็นโรคจะบวมขึ้น มีรอยปูดเล็ก ๆ เกิดตามเปลือก บริเวณที่ใบหลุดไป ใบที่แตกออกมาใหม่จะเป็นกระจุก และแผ่นใบไม่แข็งเหมือนปกติ ใบส่วนยอดที่เหลืออยู่ขอบใบจะแห้ง
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค แล้วนำไปเผาทำลาย
- คัดเลือกพันธุ์ต้านทานโรคมาปลูก โดยพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้คือ พันธุ์ Omelonado ส่วนพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานโรคคือ พันธุ์ Amazon และ Upper Amazon
- โดยปกติไม่นิยมใช้สารเคมีในการกำจัดโรคนี้
โรคไหม้
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Marasmius Scandans
ลักษณะอาการ : มีเส้นใยสีขาวสานกันเป็นร่างแหปกคลุมใบ และกิ่งของโกโก้ ทำให้กิ่งและใบแห้งตาย
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งกิ่งและใบที่เป็นโรคออก แล้วเผาทำลาย
- หลังตัดแต่งกิ่งใช้สารเคมีพวกคอปเปอร์ ออกซิคลอไรด์ มีชื่อการค้าเช่น คิวไปรด์, คอบเปอร์ไซด์ หรือคูปราวิท โอบี 21 เป็นต้น
โรคแอนแทรคโนส
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp.
ลักษณะอาการ : เกิดในใบอ่อน อาการที่พบคือ ส่วนของขอบใบและปลายใบไหม้ และลุกลามไปถึงโคนใบ ทำให้ใบโค้งงอ ใบที่มีอายุมากหน่อยจะพบจุดสีน้ำตาลบนแผ่นใบและตามขอบใบ ซึ่งก็จะเกิดอาการไหม้ และใบโค้งงอเช่นกัน โรคนี้เกิดได้ที่ผลอ่อนได้ด้วย อาการคือ ผลเน่าดำ ผลที่แห้งไปหากมีความชื้นเพิ่มขึ้นมา จะมีสปอร์ของเชื้อราสีชมพูเกิดขึ้น
การป้องกันกำจัด
- เก็บผลหรือตัดใบที่เป็นโรคออกมาเผาทำลาย
- ใช้สารเคมีพวก แมนโคเซป หรือ คาร์เบนดาซิม ฉีดป้องกัน
แมลงศัตรูโกโก้
ปลวก
มักทำลายต้นโกโก้ที่ยังเล็กอยู่ ปลวกจะกัดกินบริเวณโคนต้น และลึกลงไปในดิน 2-3 เซนติเมตร ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด : ใช้ยาประเภทดูดซึ่ม กลุ่ม คาร์โบฟูแรน ชื่อการค้าคือ ฟูราดาน 3% จี, คาบีดาน 3% จี ตามอัตราที่กำหนด คลุกเคล้ากันดินรองก้นหลุมปลูก
ด้วงปีกแข็งกัดกินใบ
จะกัดกินใบอ่อน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
การป้องกันกำจัด : ฉีดพ่นด้วยสารเคมี กลุ่ม โมโนโครโตฟอส ชื่อการค้าคือ ไซครอน, อโซดิริน, หรือดอลล่าร์-60 ตามอัตราที่กำหนดฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือใกล้ค่ำ
เพลี้ยอ่อน
จะดูดน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะที่ยอดอ่อนของโกโก้ ระบาดมากช่วงฤดูฝนที่มีอากาศชื้น
การป้องกันกำจัด : ใช้ปุ๋ยที่มีส่วนผสมของแอคทีฟซิลิคอน จะช่วยป้องกันเพลี้ยได้ แต่หากยังระบาดให้ใช้ สารเคมีกลุ่ม โมโนโครโตฟอน หรือดัลดริน ชื่อการค้าคือ มิโดฟอส 600 หรือ ทามารอน ฉีดบริเวณซอกใบอ่อน
มวนโกโก้
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของโกโก้ มีลักษณะคล้ายยุงแต่โตกว่า มีหนวดยาวมาก 2 เส้น ลำตัวเขียวสลับดำ มวนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและผล ผิวของผลจะเกิดเป็นจุดตกกระเล็ก ๆ สีดำทั่วทั้งผล อาจมีการทำลายของเชื้อราซ้ำเติม ทำให้ผลเสียหาย และเน่าในที่สุด
การป้องกันกำจัด : รักษาแปลงปลูกให้สะอาด ตัดแต่งกิ่งให้พุ่มโปร่ง
การเก็บผล
โกโก้จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อย่างเข้าปีที่ 3 โดยโกโก้จะทยอยออกดอกเป็นรุ่นตลอดทั้งปี โดยปกติจะห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากดูแลดี โกโก้จะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี โดยจะเก็บเกี่ยวได้ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง อายุของผลนับจากดอกบานประมาณ 5-6 เดือน ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลืองหรือแดง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การเก็บผลโกโก้นั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้วผลออกจากกิ่ง ไม่ควรใช้มือเด็ด เพื่อป้องกันไม่ให้ขั้วผลช้ำ เพื่อจะได้เกิดเป็นตาดอกและผลรุ่นถัดไป
การหมักโกโก้
ผลโกโก้ที่เก็บมาแล้ว จะต้องผ่าผลแล้วแกะเมล็ดออกจากผลและไส้ที่ติดมากับเมล็ด แล้วนำเมล็ด (พร้อมทั้งเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว) มาหมักเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้แห้งที่มีกลิ่น รส และคุณภาพที่ดี โดยผลที่จะนำมาหมักต้องสุกพอดี โดยดูจากสีผลที่เป็นสีเหลือง ปริมาณเมล็ดโกโก้ที่เหมาะสมกับการหมักแต่ละครั้งอยู่ระหว่าง 50-100 กิโลกรัม หรือประมาณ 500 ผล (ปริมาณต่ำสุดไม่ควรน้อยกว่า 30 กิโลกรัม) เพื่อให้ได้กลิ่นและรสที่ดี
ข้อควรคำนึงในการหมักเมล็ดโกโก้
- เมล็ดที่แกะออกจากผล จะต้องทำการหมักในทันที และไม่มีการล้างเมล็ด และห้ามใช้น้ำล้างเมล็ด
- ภาชนะที่ใส่เมล็ดเพื่อหมักไม่ควรเป็นโลหะ เพราะเยื่อหุ้มเมล็ดมีกรดซึ่งจะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้ได้กลิ่นและรสไม่เป็นที่ต้องการ ลังไม้ หรือเข่ง เป็นภาชนะที่เหมาะสมที่จะใช้ในการหมัก
- ภาชนะที่หมักจะต้องมีรูระบายของเหลวที่เกิดจากการสลายตัวของเยื่อหุ้มเมล็ดออกได้สะดวก
- อุณหภูมิในระหว่างการหมักจะสูงขึ้นจนถึง 50 องศาเซลเซียส กลิ่นและรสของเมล็ดจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิประมาณ 48-50 องศาเซลเซียส และต้องรักษาอุณหภูมินี้ให้ได้นาน 72 ชั่วโมง ดังนั้น ปริมาณเมล็ดจึงต้องมีมากเพียงพอ และควรหาพลาสติกและกระสอบป่านคลุมภาชนะหมัก
- การคลุมเมล็ดด้วยใบตอง จะทำให้การหมักสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากใบตองมีจุลินทรีย์ ที่ช่วยในการหมักเมล็ด
- ต้องมีการถ่ายเทของอากาศด้วย ดังนั้นจึงต้องกลับเมล็ดทุก 48 ชั่วโมง (2 วัน)
- การผึ่งเมล็ดให้แห้ง อาจใช้การตากแดดหรือเตาอบ การตากแดดให้ตากบนเสื่อหรือลานซีเมนต์ เกลี่ยเมล็ดที่ตาก ให้หนา 2-3 เซ็นติเมตร และควรกลับเมล็ด เพื่อให้แห้งสนิททั่วทั้งเมล็ด การตากแดดใช้เวลา 3-4 วัน หลังตากแดดดีแล้ว เมล็ดจะมีความชื้นไม่เกิน 7.5% ภายในเมล็ดจะเปลี่ยนสีเป็นสีโกโก้หรือสีน้ำตาลอ่อน ก็นำมาบรรจุกระสอบ
วิธีการหมัก
- การหมักโดยใช้เข่ง : นิยมในหมู่เกษตรกรรายย่อย ทำโดยบรรจุเมล็ด โกโก้สด (พร้อมเยื่อหุ้มเมล็ด) ลงในเข่ง ซึ่งบรรจุได้ประมาณ 25-30 กิโลกรัม คลุมเมล็ดด้วยใบตอง 2-3 ชั้น แล้วยกเข่งไปตากแดด 2 วัน แล้วจึงถ่ายเมล็ดโกโก้ลงในเข่งใหม่ ซึ่งเป็นการกลับเมล็ดไปในตัว จากนั้นคลุมด้วยใบตอง แล้วตากไว้อีก 2 วัน แล้วจึงถ่ายกลับลงไปในเข่งใบแรก สลับกันเช่นนี้จนครบ 7 วัน จึงนำเอาเมล็ดออกจากเข่งไปตากแดด เมล็ดโกโก้ที่บ่มได้ที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง หรือม่วงอมน้ำตาล ขึ้นกับสายพันธุ์
- การหมักในลังไม้ : ทำโดยบรรจุเมล็ดโกโก้สดลงในลังไม้ ขนาด 1.5x2x1 ฟุต ซึ่งบรรจุเมล็ดได้ 50 กิโลกรัม หรือ 3x4x2.5 ฟุต บรรจุเมล็ดโกโก้ได้ 700 กิโลกรัม โดย
- วันที่ 1: นำเมล็ดโกโก้ใส่ลังในช่วงบ่าย
- วันที่ 2 : กลับเมล็ดโกโก้ในตอนเช้า คลุมลังด้วยใบตอง และคลุมทับอีกชั้นด้วยพลาสติกและกระสอบป่าน
- วันที่ 4 : กลับเมล็ดโกโก้
- วันที่ 6 : กลับเมล็ดโกโก้
- วันที่ 7: เสร็จสิ้นการหมัก
- วันที่ 8-9 : หากเมล็ดโกโก้มีกรดมากเกินไป และต้องการลดปริมาณกรด ให้กลับเมล็ดโกโก้ทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยไม่ต้องคลุมพลาสติกและกระสอบป่าน วันละ 5 ครั้ง โดยในระยะนี้ เมล็ดโกโก้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีกลิ่นของกรดน้อยลง
- วันที่ 10 : นำเอาเมล็ดออกจากลัง ไปทำให้แห้ง
- เมื่อเมล็ดมีการหมักได้ที่แล้ว ก็จึงทำการตากเมล็ดให้แห้ง อาจใช้การตากแดดหรือเตาอบ การตากแดดให้ตากบนเสื่อหรือลานซีเมนต์ เกลี่ยเมล็ดที่ตากให้หนา 2-3 เซ็นติเมตร และควรกลับเมล็ด เพื่อให้แห้งสนิททั่วทั้งเมล็ด การตากแดดใช้เวลา 3-4 วัน หลังตากแดดดีแล้ว เมล็ดจะมีความชื้นไม่เกิน 7.5% ภายในเมล็ดจะเปลี่ยนสีเป็นสีโกโก้หรือสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นให้นำมาบรรจุกระสอบเพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป
วิธีการหมักโกโก้ แบบลุงนิตย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
พอดีทางผู้เขียนได้ไปเจอคลิปของลุงนิตย์ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญ การปลูกโกโก้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แกมีวิธีการหมักโกโก้แบบง่าย ๆ และ ได้ผลดี โดย เริ่มต้นให้ ผ่าผลโกโก้ ออกเป็น 2 ส่วน คว้านเอาเฉพาะส่วนเมล็ด (ไม่เอาแกน) จากนั้น นำเมล็ดโกโก้ ใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ใส่เมล็ดโกโก้ไปประมาณ 12 กิโลกรัม ผูกปากถุงด้วยเชือกให้แน่น โดยให้มีพื้นที่ว่างปากถุง ประมาณสัก 30% ของขนาดถุง หมักไว้ 8 วัน ก็จะได้โกโก้ที่มีคุณภาพ
วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องกลับเมล็ดเลย ความร้อนส่วนเกิน จากการหมักจะทำให้ถุงพลาสติกขาดเป็นรู และค่อย ๆ ถูกระบายออกจากถุง
มาตรฐานเมล็ดโกโก้แห้ง
เมล็ดโกโก้แห้งที่ดีนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นเมล็ดที่เต่ง ผิวเรียบไม่เหี่ยวย่น ขนาดของเมล็ดสม่ำเสมอ แห้ง สะอาด มีเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่น้อย ไม่มีสิ่งเจือปนเช่น เปลือกผลโกโก้ ดิน ทราย เมล็ดไม่จับกันเป็นก้อน โดยเมล็ดที่ได้มาตรฐานมีลักษณะดังนี้
- ความชื้นของเมล็ดไม่เกิน 7.5%
- เปลือกหุ้มเมล็ดไม่ติดแน่นกับเนื้อเมล็ด แต่ก็แข็งแรงพอที่จะไม่แตกหักง่าย ไม่มีเยื่อหุ้มติดกับเมล็ดมาก
- ในการสุ่มตัวอย่างเมล็ดโกโก้แห้ง 200 เมล็ด นำมาผ่าตามความยาวเมล็ด เมื่อนำจำนวนเมล็ดต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- เมล็ดที่เป็นราไม่เกิน 3%
- เมล็ดที่เป็นสีเทา หรือสีหินชนวน มีไม่เกิน 3%
- เมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลาย เมล็ดงอก และเมล็ดลีบเสีย รวมกันมีไม่เกิน 3%
- เมล็ดสีม่วงมีไม่เกิน 20%
ผลผลิตโกโก้
ตารางด้านล่างเป็นผลผลิตโกโก้เฉลี่ยของ เกษตรกรรายย่อยในมาเลเซีย ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ เกษตรกรในมาเลเซียจะปลูกมะพร้าว ควบคู่กับโกโก้โดยปลูกมะพร้าวระยะ 9×9 เมตร แซมด้วยโกโก้ ระยะ 3×3 เมตร โดยพบว่าผลผลิตมะพร้าวเพิ่มขึ้นเมื่อแซมด้วยโกโก้
อายุโกโก้ (ปี) | ผลผลิตโกโก้แห้ง (กิโลกรัมต่อไร่) |
3 | 22.05 |
4 | 31.05 |
5 | 63.90 |
6 | 71.10 |
7 | 94.95 |
7-13 | 99.90 |
14-17 | 90.0 |
18-21 | 81 |
22-25 | 72.9 |
ส่วนราคาเมล็ดโกโก้แห้ง ในตลาดโลก นั้น เราสามารถเช็คได้จากเวปไซต์ของ International Cocoa Organization (www.icco.org) ซึ่งณ เดือนธันวาคม 2559 ราคาอยู่ประมาณตันละ 2,400 US$ หรือ ประมาณกิโลกรัมละ 84 บาท
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
References:
การปลูกโกโก้, สมศักดิ์ วรรณศิริ
http://www.doa.go.th/hrc/chumphon/
http://www.cocoathailandcenter.com/
Coconut-Cacao (Cocoa) Cropping Model, Severino S. Magat, PhD1 and Millicent I. Secretaria, MSc2