สืบเนื่องจากผู้เขียนมีความสนใจในเรื่องของพืชพลังงาน จึงได้ลองค้นหาข้อมูลจาก Internet เกี่ยวกับพืชพลังงาน จึงได้พบข้อมูลที่น่าสนใจมากจาก Wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/Table_of_biofuel_crop_yields
ลิงค์ข้างต้นเป็นตารางแสดงค่าของปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ ที่พืชแต่ละชนิดสามารถผลิตได้ เรียงจากน้อยไปหามาก ลองคัดเอาเฉพาะพืชที่ปลูกได้ในไทย และคำนวนปริมาณน้ำมันต่อไร่ แสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ผลผลิตน้ำมันของพืชชนิดต่าง ๆ ต่อพื้นที่ ต่อปี
ผลผลิตน้ำมันของพืชชนิดต่าง ๆ / ไร่ /ปี | |
ชนิดพืช | น้ำมัน(ลิตร)/ไร่/ปี |
ข้าวโพด | 28 |
มะม่วงหิมพานต์ | 28 |
ฝ้าย | 52 |
ถั่วเหลือง | 71 |
กาแฟ | 73 |
ฟักทอง(เมล็ด) | 85 |
ชาน้ำมัน | 93 |
งา | 111 |
ดอกคำฝอย | 125 |
ข้าว | 132 |
มะเยาหิน (tung oil) | 150 |
ทานตะวัน | 152 |
โกโก้ | 164 |
ถั่วลิสง | 169 |
ฝิ่น | 186 |
มะกอกโอลีฟ | 194 |
ละหุ่ง | 226 |
โจโจบา | 291 |
สบู่ดำ | 303 |
มะคาเดเมีย | 359 |
ถั่วบราซิล | 383 |
อะโวกาโด | 422 |
มะพร้าว | 430 |
ปาล์มน้ำมัน | 952 |
หยีน้ำ (Pongamia Pinnata) | 1714 |
Copaifera langsdorffii | 1920 |
สาหร่าย | 15200 |
ถ้าสังเกตุจากตารางจะพบว่าพืชพลังงานที่ได้เคยมีการส่งเสริมปลูกเช่น สบู่ดำ หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้คือมะเยาหิน มีผลผลิตน้ำมันต่อไร่ เพียงไม่ถึง 1/3 หรือ 1/6 ของพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน ผลผลิตในตารางนั้นเป็นผลผลิตเฉลี่ยที่ได้มาจากแหล่งปลูกจริง ทุกท่านคงเห็นจากในตารางว่ามีพืช 2 ชนิด (ไม่นับรวมสาหร่าย ที่ยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต) คือ หยีน้ำ และ Copaifera langsdorffii ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าปาล์มน้ำมัน แต่เนื่องจาก พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นพืชใหม่ ยังไม่มีการปลูกแพร่หลาย ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า ผลผลิตที่แสดงน่าจะเป็นผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำได้ มากกว่าที่จะเป็นผลผลิตเฉลี่ย ผลผลิตสูงสุดของปาล์มน้ำมันอาจได้ถึง 1,800 ลิตร/ไร่/ปี
Copaifera langsdorffi หรือ diesel tree เป็นไม้พื้นเมืองของป่าอะเมซอน ผลผลิตน้ำมันได้จากการเจาะที่ลำต้น ต้น diesel tree หนึ่งต้นว่ากันว่าให้ผลผลิตน้ำมันถึง 30-50 ลิตรต่อปี เลยทีเดียว สถานะการปลูกต้น diesel tree ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ข้อมูลผลผลิตยังไม่ชัดเจน ต้น diesel tree ขึ้นในพื้นที่ป่าที่มีปริมาณฝนค่อนข้างสูง (1000-4000 mm) จึงยังไม่แน่ชัดว่าหากปลูกในที่แห้งแล้ง จะได้ผลผลิตดีหรือไม่ ยังไม่พบว่ามีผู้ปลูกต้นไม้ดังกล่าวในประเทศไทย
หยีน้ำ หรือหยีทะเล (Pongamia Pinnata) เป็นพื้นท้องถิ่นของเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ในไทยพบมากตามป่าชายเลนทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เป็นพืชพลังงานที่กำลังมีการส่งเสริมปลูก ในอินเดีย และออสเตรเลีย ในอินเดีย เป็นพืชน้ำมันที่ปลูกมากเป็นอันดับ 2 รองจากสบู่ดำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เหตุใด ประเทศอินเดียและออสเตรเลีย จึงสนใจเรื่องของต้นหยีน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากต้นหยีน้ำ นอกจากให้น้ำมันสูงแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ คือ ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนแล้ง ทนดินเค็ม เป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย น้ำมันมีองค์ประกอบของกรดไขมัน เหมาะสำหรับการผลิตไบโอดีเซล โตเร็ว เป็นไม้ยืนต้น เขียวชอุ่มตลอดปี หยีน้ำมีรากฝอยหนาแน่น และรากแก้วที่หยั่งลงดินลึกมาก ทั้งมีร่มเงาทึบช่วยให้การระเหยน้ำจากผิวดินช้าลง ทนต่ออุณหภูมิสูง ได้ถึง 50 องศาเซลเซียส ขึ้นได้ในที่แห้งแล้ง ที่มีปริมาณน้ำฝนเพียง 500 มิลลิเมตร/ปี ทุกส่วนของต้นเป็นพิษ ทำให้ศัตรูพืชตามธรรมชาติน้อย ใบและฝักหยีน้ำมีไนโตรเจนสูง เป็นแหล่งของปุ๋ยพืชสดที่ดี เมล็ดหยีน้ำประกอบด้วยน้ำมัน 20-42 เปอร์เซ็นต์ มีการนำน้ำมันมาใช้จุดตะเกียง ทำสบู่ และเป็นสารหล่อลื่น กากของเมล็ดที่สกัดน้ำมันแล้วมี โปรตีนสูง (มากกว่า 30%) เมื่อขจัดสารพิษออกแล้ว สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ ทำให้เป็นได้ทั้งพืชพลังงานและพืชอาหาร
ข้อดีของต้นหยีน้ำ
- ให้ผลผลิตน้ำมันสูง สามารถปลูกได้ในที่แห้งแล้ง ทนต่อดินเค็ม
- ให้ผลผลิตที่เป็นทั้งพลังงานและแหล่งอาหาร (น้ำมันสามารถผลิตไบโอดีเซลได้ และกากเมล็ดใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ได้)
- ผลผลิตน้ำมันต่อไร่ใกล้เคียงปาล์มน้ำมัน แต่กากมีโปรตีนสูงกว่ากากปาล์ม 3 เท่า
- เหมาะสมกับภูมิอากาศของไทย : หยีน้ำปลูกได้ในเขตร้อน ที่มีปริมาณฝน 600 มม. ต่อปีขึ้นไป แต่พื้นที่ที่เหมาะที่สุดควรมีปริมาณฝน 1,000 มม. ต่อปีขึ้นไป ซึ่งตรงกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย
- เป็นพืชตระกูลถั่ว มีไรโซเบียม ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปุ๋ยได้ เฉลี่ยไร่ละ 1,000 บาทต่อปี [อ้างอิง 2]
- ต้นทุนการผลิตต่ำ ปลูกเพียงครั้งเดียว เก็บเกี่ยวได้ถึง 100 ปี
- เริ่มให้ผลผลิตปีที่ 4 ให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 8
- มีรากแก้วที่หยั่งลงดินได้ลึกมาก สามารถดึงน้ำและธาตุอาหารจากดินชั้นล่าง และทำให้ทนแล้ง
- ลดการชะล้างของดินและปุ๋ย เนื่องจากใช้ปุ๋ยน้อย และเป็นไม้ยืนต้นใบทึบคลุมดินอยู่ตลอดเวลา
- ต้นหยีน้ำมีคุณสมบัติต้านทานแมลงและเชื้อราได้
- สามารถเป็นแหล่งทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ ใบและฝักของหยีน้ำมีไนโตรเจนสูง เมื่อร่วง สามารถเป็นปุ๋ยให้หญ้าอาหารสัตว์ได้
- การสกัดน้ำมัน รวมทั้งการผลิตไบโอดีเซล ใช้เครื่องจักรที่ราคาไม่สูง สามารถทำได้ในชุมชน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Pongamia Pinnata, Millettia pinnata, Derris indica (Lam.) Bennet
ไม้ต้น สูง 5-15 (-20) เมตร เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้าง ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบ สีเขียวแกมน้ำตาลถึงน้ำตาลเทาคล้ำ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลอ่อนประขาว ผิวเปลือกสีเขียว ก้านช่อใบยาว 10-15 เซนติเมตร ใบย่อยเรียงกัน 3 คู่ และที่ปลายก้านอีก 1 ใบ แผ่นใบย่อย รูปไข่ถึงรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน ปลายเรียวแหลม โคนสอบเส้นแขนง 8-10 คู่ ดอก สีชมพู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผล ค่อนข้างเบี้ยว รูปขอบขนาน ปลายแหลม โค้งลง กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 5-7.5 เซนติเมตร มี 1-2 เมล็ด
ระยะเวลาการเป็นดอก-ผล ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลแก่ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม (อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่)
ลักษณะทางนิเวศและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามชายป่าพรุ ริมแม่น้ำลำคลองใกล้ชายฝั่งทะเล และป่าชายหาดทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
รายได้จากการปลูกหยีน้ำ
เชื่อว่าทุกท่านคงสนใจว่า หากปลูกหยีน้ำแล้ว จะมีรายได้มากแค่ไหน? หยีน้ำเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จากข้อมูล [2] พบว่า ต้นที่โตเต็มที่จะให้ผลผลิตในปีที่ 10 เฉลี่ย 30-50 กิโลกรัม (น้ำหนักเมล็ด) ต่อต้น โดยสูงสุดที่ 90 กิโลกรัมต่อต้น ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่าผลผลิตดังกล่าว มาจากการปลูกเป็นแปลง หรือเป็นต้นตามธรรมชาติ ผู้เขียนขอนำข้อมูลประเมินผลผลิตจาก [อ้างอิง 1] ที่ให้ผลผลิตต่อต้นที่ปีที่ 4, 7, 10 คือ 5, 15, 25 กิโลกรัม (น้ำหนักเมล็ด) และผลผลิตสูงสุดที่ 50 กิโลกรัมต่อต้น และตั้งสมมุติฐานการปลูกที่ระยะ 4×5 คือ 80 ต้นต่อไร่ ส่วนเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ใช้ค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์น้ำมันของต้นหยีน้ำคือ 30% เปอร์เซ็นต์การสูญเสียในการสกัด 5% ดังนั้นจะเหลือปริมาณกาก 65% ผลผลิตต่อไร่แสดงในตารางที่ 1 จะเห็นว่าผลผลิตน้ำมันต่อไร่ในปีที่ 10 ที่ประเมิน คือ 600 กก หรือ 720 ลิตร (น้ำมัน 1 กก.มีปริมาตรประมาณ 1.2 ลิตร) สอดคล้องกับข้อมูลของ ออสเตรเลีย [2] ที่ประเมินผลผลิตน้ำมันที่ 576-960 ลิตรต่อไร่
ส่วนราคาของน้ำมัน คิดจากราคาน้ำมันไบโอดีเซล ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม (25 บาทต่อลิตร) หักค่าบริหารจัดการและการผลิตที่ 8 บาทต่อกิโลกรัม ได้เป็นราคาประมาณ 22 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคากาก ผู้เขียนประเมิน จากราคากากถั่วเหลือง (45%โปรตีน) ที่ 15 บาท/กก [7] ส่วนกากปาล์ม (10% โปรตีน) 6 บาท/กก [8] เลยขอตั้งสมมุติฐานที่ 8 บาท/กก ได้เป็นรายได้ต่อไร่แสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ประมาณการผลผลิตและรายได้จากการปลูกหยีน้ำ
ปี่ที่ 4 | ปีที่ 7 | ปีที่ 10 | สูงสุด | |
น้ำหนักเมล็ดต่อต้น (กก) | 5 | 15 | 25 | 50 |
น้ำหนักเมล็ดต่อไร่ (80 ต้นต่อไร่) | 400 | 1,200 | 2,000 | 4,000 |
น้ำมัน (กก) (30% ของเมล็ด) | 120 | 360 | 600 | 1,200 |
กาก (65% ของเมล็ด) | 260 | 780 | 1,300 | 2,600 |
รายได้จากน้ำมัน (22 บาท/กก) | 2,640 | 7,920 | 13,200 | 26,400 |
รายได้จากกาก (8 บาท/กก) | 2,080 | 6,240 | 10,400 | 20,800 |
รายได้รวมต่อไร่ (บาท) | 4,720 | 14,160 | 23,600 | 47,200 |
สำหรับต้นทุนการผลิตของหยีน้ำนั้น ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้น ปลูกเพียงครั้งเดียว ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลูกทุกปี (ค่าไถ, กำจัดวัชพืช, ค่าปลูก) เหมือนพืชไร่เช่นข้าวโพด, ข้าว, อ้อย หรือมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังมีไรโซเบียม ช่วยตรึงไนโตรเจน ทำให้ประหยัดค่าปุ๋ยลงได้อีกมาก ดังนั้นเมื่อดูจากรายได้และต้นทุนการผลิตแล้ว ถือว่าหยีน้ำน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำกำไรให้แก่เกษตรกรได้ดีมากทีเดียว
หยีน้ำในประเทศไทย
ในประเทศไทย ต้นหยีน้ำ หรือหยีทะเล พบได้ตามป่าชายเลนทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออก จากการพบและสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าชายเลนที่จังหวัดชลบุรี พบว่าหยีน้ำ ที่ปลูกจะเริ่มออกดอกและติดฝักได้ในปีที่ 4 การออกดอกจะออกปีละ 3 ครั้ง และมากที่สุดช่วงฤดูฝน ผู้เขียนได้ไปดูต้นหยีน้ำที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 13 (ชลบุรี) อายุ 6 ปี กำลังติดฝักจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่ามีฝักจำนวนมากลีบไม่มีเมล็ด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการขาดการผสมเกสร เนื่องจากมีต้นหยีน้ำในสถานที่นั้นเพียงต้นเดียว
สิ่งที่ควรคำนึงถึงหากคิดจะปลูกหยีน้ำ
- สายพันธุ์ – ตามปกติแล้วเมล็ดของหยีน้ำจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน เฉลี่ยประมาณ 30% จากน้ำหนักเมล็ด จากข้อมูลโดย อ.วิทยา ม.เกษตรศาสตร์ [3] ได้นำเมล็ดหยีน้ำจาก จ.ระนอง มาทดสอบ พบว่ามีเปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 25% ขณะที่คณะทำงานในออสเตรเลีย โดย Centre of Excellence in Legume Research, University of Queensland สามารถคัดสายพันธุ์หยีน้ำที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันถึง 40% ดังนั้นหากคิดจะปลูกหยีน้ำ จะต้องคัดสายพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง นอกจากนี้ อาจต้องมีการปลูกมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์เพื่อเพิ่มการผสมเกสร ลดจำนวนเมล็ดลีบที่เกิดจากการขาดการผสมเกสร
- จำนวนต้นต่อไร่ – จากข้อมูลพบว่าระยะปลูกหยีน้ำ มีตั้งแต่ 2×2 ถึง 5×5 เมตร จำนวนต้นต่อไร่มีตั้งแต่ 64 ถึง 300 ต้น ควรมีการทดสอบระยะปลูกที่ให้ผลผลิตสูงสุด ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
- ไรโซเบียม – ไรโซเบียม เป็นแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในรากของพืชตระกูลถั่ว ทำให้เกิดปมที่ราก และช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ให้กับพืช ตามธรรมชาติ เราอาจพบไรโซเบียมได้ในต้นหยีน้ำบางต้น การมีไรโซเบียม จะช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้มาก หรืออาจไม่ต้องใช้เลย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปุ๋ยได้มาก ดังนั้นหากจะปลูกหยีน้ำ จะต้องเพาะเชื้อไรโซเบียมให้กับต้นที่ปลูกทุกต้น ปัจจุบัน ทางกรมวิชาการเกษตร ได้เพาะเชื้อไรโซเบียมสำหรับต้นหยีน้ำได้แล้ว วิธีการที่ดีที่สุดในการเพาะเชื้อจะต้องคลุกเชื้อไรโซเบียมกับเมล็ด ซึ่งจะทำให้เกิดปมที่รากแก้ว จะทำให้การตรึงไนโตรเจนมีประสิทธิภาพสูงสุด หากสนใจเชื้อไรโซเบียมสำหรับหยีน้ำ สามารถติดต่อได้ที่ ตึกไรโซเบียม กรมวิชาการเกษตร
- การกำจัดสารพิษในกากเมล็ด – หากเมล็ดของหยีน้ำมีน้ำมัน 30% ขบวนการสกัดมีการสูญเสีย 5% จะมีกากเมล็ดเหลืออยู่อีกถึง 65% ของน้ำหนักเมล็ดทั้งหมด กากของเมล็ดหยีน้ำที่สกัดน้ำมันออกมาแล้วนั้น มีโปรตีนสูงประมาณ 30% สามารถนำมาใช้ ทำปุ๋ย, ผลิตก๊าซชีวภาพ [5], หรือ ทำเป็นอาหารสัตว์ โดยจะมีมูลค่าสูงสุดหากนำมาขายเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ จากตารางที่ 2 จะเห็นว่ารายได้ของหยีน้ำนั้น กว่า 40% มาจากกาก
แต่กากเมล็ดหยีน้ำไม่สามารถนำมาผลิตอาหารสัตว์ได้โดยตรงเนื่องจากมีสารพิษ คือ Karanjin นอกจากนี้ยังมีรสขม ซึ่งอาจไม่เป็นที่ถูกปากของสัตว์ หากต้องการนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ ต้องทำการกำจัด Karanjin ออกไปเสียก่อน ซึ่ง T. M. Prabhu และคณะ [6] ได้ศึกษาพบว่า สามารถกำจัด Karanjin ได้โดยการสกัดเอาน้ำมันที่เหลืออยู่ในกากออกให้มากที่สุดโดยใช้ตัวทำละลาย (ในที่นี้คือ petroleum ether) เนื่องจากสาร Karanjin ละลายในน้ำมัน การสกัดเอาน้ำมันออก ก็เท่ากับสกัดเอา Karanjin ออกด้วย อีกวิธีหนึ่งคือการแช่กากในสารละลายด่างโซดาไฟ 1% เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วตากให้แห้ง โดยทั้งสองวิธีสามารถลดปริมาณ Karanjin ได้ 85-95% อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับเป็นอาหารสัตว์ วิธีการสกัดด้วยตัวทำละลายมีข้อดีคือได้น้ำมันเพิ่มจากส่วนที่หลงเหลือในกาก ส่วนการใช้ด่างโซดาไฟ ทำให้ปริมาณสาร tannin (ความขม) ในกากลดลง
วิธีการกำจัด Karanjin ด้วยด่าง เป็นวิธีที่น่าสนใจ เนื่องจาก เราสามารถนำ สารละลายด่างเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตไบโอดีเซลมาใช้ได้ ด่างจะทำปฏิกิริยากับน้ำมันในกาก ให้เปลี่ยนเป็นสบู่ สบู่ละลายน้ำและถูกกำจัดออกไปจากกาก น้ำสบู่ที่ได้ ถ้าต้องการ สามารถดึงเอาไขมันออกมาโดยการเติมกรดซัลฟูริก กรดซัลฟูริก จะเปลี่ยนสบู่ให้เป็นกรดไขมัน และเกลือ โดยกรดไขมันที่ได้ สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้โดยวิธี esterification (ใช้กรดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา) เกลือที่ได้หากใช้ ด่างเป็นโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ จะได้เกลือคือโปตัสเซียมซัลเฟต ซึ่งก็คือปุ๋ยสูตร 0-0-50 ที่เกษตรกรใช้กันนี่เอง จะเห็นได้ว่า ขบวนการผลิตไบโอดีเซลนี้จะมีของเสียน้อยมาก - ไมคอร์ไรซา – เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่กับรากพืช ไมคอร์ไรซา ช่วยพืชหาอาหาร และทำให้รากพืชต้านทานโรคที่เกิดจากเชื้อรา เราสามารถพบเชื้อราไมคอร์ไรซาได้ในรากพืชเกือบทุกชนิด พืชที่มีไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่จะมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าพืชที่ไม่มีไมคอร์ไรซาอย่างเห็นได้ชัด ในประเทศไทยมีการนำเชื้อไมคอร์ไรซา ไปใช้ในพืชเศรษฐกิจหลายชนิดเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ในต่างประเทศมีการนำเอาไมคอร์ไรซามาใช้ในหยีน้ำด้วย ผู้สนใจเชื้อไมคอร์ไรซา สามารถติดต่อซื้อได้ที่กรมวิชาการเกษตร
เอกสารอ้างอิง:
1. http://www.jatrophaworld.org/pongamia_pinnata_84.html
2. http://www.bioenergyresearch.com.au
3. FATTY ACID COMPOSITION AND PROPERTIES OF PONGAMIA PINNATAOIL AND ITS METHYL ESTERS FROM SOUTHERN REGION OF THAILAND : V. Punsuvon, R. Nokkeaw, P. Somkliang, Kasetsart university
4. Genetic, Biochemical, and Morphological Diversity of the Legume Biofuel Tree Pongamia pinnata : Q. Jiang, et al, Journal of Plant Genome Sciences 1 (3): 54–67, 2012
5. A Study on Biogas Generation from Non-edible Oil Seed Cakes: Potential and Prospects in India : Ram Chandra1, et al, The 2nd Joint International Conference on “Sustainable Energy and Environment (SEE 2006), 21-23 November 2006, Bangkok, Thailand
6. Quantification of Karanjin Using High Performance Liquid Chromatography in Raw and Detoxified Karanj (Pongamia glabra vent) Seed Cake : T. M. Prabhu, C. Devakumar1, V. R. B. Sastry and D. K. Agrawal
7. http://www.cpffeed.com/price_detail.html?product=11
8. http://www.ptlivestock-2011.com/page-map.php
9. http://www.dnp.go.th/pattani_botany/พันธุ์ไม้/ป่าพรุ/หยีน้ำ/หยีน้ำ.htm