เพาะเห็ดนางรมเองที่บ้าน

การเพาะเห็ดนางรม

สนุกกับการเพาะเห็ดนางรมเองที่บ้าน  เห็ดนางรม หรือ Oyster Mushroom (Pleurotus spp.)  เป็นเห็ดที่ขึ้นตามไม้เนื้อแข็ง ที่พบได้บ่อยมากที่สุด พบได้ทั่วไปในเขตอบอุ่นซีกโลกเหนือ  มีการเพาะเห็ดนางรม เพื่อบริโภคหลากหลายชนิด และที่เพาะมากที่สุดคือ P.Ostreatus และ P.Pulmonarius   เห็ดนางรม อาศัยและหาอาหารจากอินทรีย์วัตถุ  โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็ง มันสามารถเจริญเติบโต ในส่วนเนื้อไม้ที่ตายแล้วในต้นไม้ และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสม  เห็ดนางรม นอกจากมีรสชาติดีแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสูงด้วย มีโปรตีน วิตะมินบี และแร่ธาตุต่าง ๆ ทั้งยังมีใยอาหารสูง  เห็ดนางรมบางชนิดยังมีสารที่เรียกว่า statin ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดคลอเรสเตอรอล ด้วย

เห็ดนางรมสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย โดยใช้อินทรีย์วัตถุจำพวก lignocellulose หลากหลายชนิด เช่น ขี้เลี่อย  ฟาง หรือแม้แต่กระดาษ  การเพาะเห็ดนางรม ในบ้านสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้พื้นที่ไม่มาก  แนวทางในการเพาะเห็ดนางรม นั้น สามารถแบ่งเป็นวิธีการหลัก ๆ ได้ 3 แบบ ตามความยากง่าย คือ
  1.  ซื้อก้อนเห็ดที่ เพาะเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราแค่นำมา เปิดดอก (ให้เห็ดสร้างดอกเห็ดออกมาจากถุง)
  2.  ซื้อหัวเชื้อเห็ด  มาปลูกเชื้อ ในก้อนเห็ด ซึ่งก็คือวัสดุสำหรับเพาะเห็ดซึ่งทำขึ้นมาเอง
  3.  ผลิตทั้ง ก้อนเห็ด  และหัวเชื้อเห็ดเอง

สำหรับในบทความนี้ จะขอนำเสนอแนวทางที่ 2 คือ เราซื้อหัวเชื้อเห็ด มาปลูกเชื้อ ในก้อนเห็ด ซึ่งทำขึ้นมาเอง ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ก็คือ

  1.  หัวเชื้อเห็ด
  2.  วัสดุเพาะที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว
  3.  ถุงพลาสติก ขนาด ประมาณ 1×2 ฟุด  (25-30ซม x50-60 ซม)

สำหรับวัสดุเพาะเห็ดในที่นี้ เราจะใช้ ฟางข้าว แต่วัสดุอื่น ๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้ เช่น ซังข้าวโพด  กากกาแฟ เส้นใยฝ้าย เปลือกถั่วลิสง ใบกล้วย หรือกระดาษ   สำหรับในที่นี้เราจะใช้ฟางข้าวเป็นวัสดุเพาะ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

  1. ตัดฟางข้าวเป็นเส้นสั้น ๆ ขนาด 4-5 นิ้ว แล้วนำไปแช่น้ำไว้ค้างคืน
  1. ฆ่าเชื้อ โดยการนำฟาง ไปต้มน้ำที่อุณหภูมิ ไม่ต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียส นาน 1-2 ชั่วโมง
ต้มฟางข้าวเพื่อฆ่าเชื้อ
  1. สะเด็ดน้ำออกจากฟาง รอให้เย็น  ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อสถานที่ปฎิบัติงานเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อรา
  2. ทันทีที่ฟางเริ่มเย็น  ทำการผสมเชื้อเห็ดนางรม เข้ากับฟาง แล้วบรรจุฟางลงในถุงพลาสติก หรืออาจใส่ฟางสลับกับเชื้อเป็นชั้น ๆ ก็ได้ โดยใช้ปริมาณเชื้อประมาณ 5-10% ของฟาง
  3.  อัดวัสดุเพาะที่คลุกกับเชื้อให้แน่น  มัดปากถุงโดยไม่ให้มีช่องว่างของอากาศอยู่ภายในถุง  จากนั้นใช้ มีดโกนหรือคัตเตอร์ ที่ฆ่าเชื้อแล้ว  เจาะรูขนาดประมาณครึ่งเซ็นติเมตร ที่ถุง ประมาณ  10-15 รู กระจายให้ทั่วถุง และให้เจาะรูห่างจากปากถุงและก้นถุงประมาณ 2-3 นิ้ว
  1. ทำการบ่มเชื้อในที่มืดและชื้น  ซึ่งสามารถทำได้ง่าย โดยวางถุงไว้ในกล่องกระดาษ หรือกล่องพลาสติก (ที่สะอาด) พร้อมกับตั้งแก้วน้ำไว้ เพื้อให้ความชื้น ปิดฝา กล่องดังรูป  อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-30 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เห็ดสร้างเส้นใยปกคลุมวัสดุเพาะดังรูป
บ่มเชื้อเห็ด ในกล่องกระดาษ
บ่มเชื้อเห็ดในกล่องกระดาษ
เส้นใยเห็ดนางรม
เส้นใยเห็ดงอกปกคลุมวัสดุเพาะ
  1. บ่มเชื้อเห็ดทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ จนกระทั่งก้อนเห็ดเป็นสีขาวทั้งก้อน ซึ่งแสดงว่าเชื้อเห็ดได้ขยายตัวเต็มที่พร้อมที่จะเปิดดอกได้
เส้นใยเห็ดนางรม
ลักษณะเส้นใยเห็ดที่เป็นสีขาว
เชื้อเห็ดที่ขยายตัวเต็มที่
เชื้อเห็ดที่ขยายตัวเต็มถุง
  1. การเปิดดอกเห็ด คือการที่เราให้เชื้อเห็ดสร้างส่วนของดอกเห็ดที่เราสามารถนำมารับประทานได้ขึ้นมา   การเปิดดอกเห็ดต้องการอุณหภูมิที่เย็น ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส และต้องการแสงสว่างพอประมาณ ส่วนความชื้น ก็ยังคงต้องมีความชื้นสูงเช่นเดิม  และสถานที่จะต้องมีอากาศถ่ายเทดี   สำหรับการเพาะเห็ดในครัวเรือน เราสามารถใช้ตระกร้าใส่ผ้า  โดยวางอิฐหรือหินไว้ที่ฐานเพื่อยกถุงเห็ดขึ้นมาจากพื้น แล้ว ใส่น้ำลงไปเพื่อเพิ่มความชื้น ดังรูป
เปิดดอกเห็ดโดยใช้ตระกร้าใส่ผ้า

ดอกเห็ดจะงอกออกจากรู ที่เราได้เจาะไว้ โดยเป็นปุ่มเล็ก ๆ ก่อน จากนั้นจึงจะขยายเป็นเห็ด รูปคล้ายกับหอยนางรมดังรูป  วิธีการเก็บ ก็ใช้มือเด็ดออกมา หรืออาจใช้มีดตัด  ซึ่งปกติแล้วดอกเห็ด จะสามารถงอกออกมาได้ 2-4 รุ่น ขึ้นกับชนิดและสภาพแวดล้อม ซึ่งเท่านี้เราก็ได้เห็ดนางรมมารับประทานแล้ว

ข้อควรระวัง

ระวังแมลงและหนูมากิน ก้อนเห็ด  ควรตรวจดูการปนเปื้อนของเชื้ออื่น ๆ ซึ่งจะพบในลักษณะจุดสี ฟ้า เขียว ดำ หรือเหลือง ซึ่งบ่งบอกได้ว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อรา หรือแบคทีเรีย

References:

D.I.Y. Funguide: Grow Your Own Oyster Mushrooms at Home by Chih-Ming Hsu, Khalid Hameed, Van T. Cotter, and Hui-Ling Liao