ตาลโตนดเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้ง ทนน้ำท่วม แต่ไม่ชอบดินที่เป็นกรดจัด สามารถปลูกแซมตามคันนาได้ เนื่องจากรากของตาลโตนดจะหยั่งลงลึก ทำให้ไม่แย่งอาหารกับนาข้าว
น้ำตาลโตนด : น้ำตาลเพื่อสุขภาพ
น้ำตาลโตนด ถือเป็นน้ำตาลที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นน้ำตาลที่มี ค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ ค่า GI เป็นค่าที่บอกผลกระทบของอาหารที่บริโภคต่อน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งหากสูง หมายถึงอาหารที่บริโภค ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูง ซึ่งไม่ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน หรือแม้แต่คนปกติ อีกทั้งยังมี วิตะมินและแร่ธาตุอื่นๆ เช่น วิตะมิน บี โดยเฉพาะ ฺB12 ในปริมาณสูง แร่ธาตุ เช่น เหล็ก โพแตสเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว น้ำตาลโตนด ก็ยังมีรสชาติอร่อย เพิ่มรสชาติของ อาหาร เครื่องดื่ม ทั้งชา กาแฟ หรือขนมต่าง ๆ ให้อร่อย กลมกล่อมมากขึ้นอีก
ประโยชน์ของตาลโตนด
- ช่อดอกตัวผู้ (งวงตาล) และช่อดอกตัวเมีย (ปลีตาล) ให้น้ำหวานที่เรียกว่าน้ำตาลสด สามารถนำมาบริโภคได้ และถ้าเคี่ยวก็จะได้น้ำตาลรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก น้ำตาลแว่น น้ำตาลผง
- ผลตาลอ่อนมาก ๆ เนื้อผลด้านติดขั้วเรียกว่า “หัวตาล” นำมาปอกเปลือกเอาเฉพาะเนื้อใน ใช้แทนผักจิ้มน้ำพริก และทำแกงคั่ว เรียกว่า “แกงหัวตาล”
- ผลตาลที่แก่ขึ้น จะมีเมล็ดอยู่ข้างใน เรียกว่า “ลูกตาลสด” ใช้รับประทานสด ๆ หรือนำไปลอยแก้ว ใส่น้ำเชื่อม
- ผลแก่ส่วนเนื้อของลูกตาลมีสีเหลืองสด นำมาคั้นเอาเส้นใยออกจะได้สารสีเหลืองที่เรียกว่า “แคโรทีนอยด์” นำไปใช้แต่งสีในอาหารและขนมต่าง ๆ ได้เช่น ขนมตาล เค็ก ไอศครีม ฯลฯ
- เมล็ดลูกตาล หากนำมาเพาะ พอเริ่มงอก เนื้อในเมล็ดจะเปลี่ยนเป็นจาวตาล ใช้เชื่อมกับน้ำหวาน เป็นจาวตาลเชื่อม หรือจะนำไปทำเป็นแกงส้มก็ได้
- ใบตาล ที่ร่วงแล้วสามารถนำมามุงหลังคาบ้าน หรือใช้ทำพัดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ตาลปัตร”
- ลำต้น ก้านใบ ทางตาล ทำเฟอร์นิเจอร์ ลอกท้องใบสดของทางก้านใบ มาควั่นทำเชือกที่เหนียวดีมาก
- เส้นใย ใช้ทำกระดาษ แปรง ไม้กวาด และเชือก
- เปลือกหุ้มเมล็ดตาล ใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำถ่าน หรือถ่านกัมมันต์ คุณภาพดี
- น้ำส้มสายชูหมัก น้ำตาลสดที่ได้จากตาลโตนดสามารถนำมาหมักเป็นน้ำส้มสายชู ที่มีรสชาติกลมกล่อม นิยมใช้ประกอบอาหารพื้นบ้านในภาคใต้
สรรพคุณทางยา
- ลูกตาล มีคุณสมบัติ แก้กระหายน้ำ ช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย แก้ไข้ตัวร้อน ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอเรื้อรัง
- ช่อดอก ใช้เป็นยาสมุนไพร ต้มน้ำกินแก้ตานขโมยในเด็ก แก้พิษตานซาง แก้ร้อนใน ปากเป็นแผล ขับพยาธิ ช่อดอกตัวผู้ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ตากแห้งต้มกับส่วนอื่นเป็นยาบำรุงกำลัง
- ราก นำมาต้มน้ำใช้เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาชูกำลัง ขับเลือด แก้พิษตานซาง ก้านใบและทางตาล ย่างไฟ คั้นแต่น้ำ ใช้แก้อาการโรคท้องร่วงและแก้ปวดเมื่อยได้
การปลูกตาลโตนด
ตาลโตนดขึ้นได้ในดินทุกชนิด และทนแล้ง ทนน้ำท่วม จึงสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ วิธีการเพาะทำได้โดยนำเมล็ดแก่มาฝังดินลึกประมาณ 10 ซม. กล้าจะเริ่มงอกหลังจากนั้น 2-3 เดือน ตาลโตนดเป็นไม้โตช้า โดยเฉลี่ยจะให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 12-15 ปี โดยขณะนั้นต้นจะสูงเพียง 4-5 เมตร
ระยะปลูก อาจปลูกตามคันนา หรือหากปลูกเป็นสวน ใช้ระยะปลูก 6×6 เมตร ถึง 8×8 เมตร
พันธุ์ตาลโตนด
พันธุ์ที่ปลูกโดยทั่วไปมี 3 พันธุ์คือ
- โตนดหม้อ ลำต้นตรงใหญ่ แข็งแรง ผลใหญ่ สีค่อนข้างดำ เปลือกหนา ใน 1 ผลมี 2-4 เมล็ด ให้ผลประมาณ 10-20 ผลต่อทะลาย
- โตนดไข่ ลำต้นตรงใหญ่ แข็งแรง ผลเล็กเหลือง เปลือกบาง ใน 1 ผลมี 2-4 เมล็ด ให้ผลประมาณ 15-30 ผลต่อทะลาย ไม่นิยมปลูกเนื่องจากผลมีขนาดเล็ก
- โตนดลูกผสม ลำต้นตรงใหญ่แข็งแรง ผลค่อนข้างใหญ่ เปลือกสีเหลืองอมดำ ใน 1 ผลมี 2-3 เมล็ด ให้ผล 15-30 ผลต่อทะลาย
สำหรับโตนดไข่ และโตนดหม้อ สามารถสังเกตุความแตกต่างได้ โดยโตนดไข่ผลจะเล็ก มีสีเหลืองตลอดผล และมีจุดประสีดำทั่วไป เนื่อเยื่อจะมีความชื้นมาก ให้แป้งน้อย ส่วนโตนดหม้อลูกใหญ่ บางผลวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 23 ซม. ผิวผลดำสนิด มีสีเหลืองเล็กน้อยบริเวณก้นผล เยื่อมีความชื้นน้อย และให้แป้งมาก
ตาลโตนดเป็นไม้แยกเพศ โดยต้นที่ปลูกอาจเป็นตาลตัวผู้หรือตัวเมีย โดยตาลตัวผู้จะมี ช่อดอกเรียกว่า งวงตาล ส่วนตัวเมีย จะเรียกว่า ปลีตาล โดยตาลตัวเมียเท่านั้นที่จะให้ผล แต่ทั้งตาลตัวผู้และตัวเมีย สามารถให้น้ำตาลสดได้
การปาดตาลเพื่อผลิตน้ำตาลสด
การผลิตน้ำตาลสดนั้น ทำได้โดยใช้มีดปาด งวงตาล หรือปลีตาลบางๆ เพื่อให้น้ำตาลสดไหลออกมา โดยจะใช้ภาชนะแขวนไว้เพื่อรองน้ำตาลสดที่ไหลออกมา เกษตรกรจะปาดตาลทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือช่วงเช้าและช่วงเย็น สาเหตุที่ต้องปาดตาลทุกวัน เนื่องจาก การปาดตาลครั้งหนึ่ง จะให้น้ำตาลสดออกมาประมาณ 8-10 ชั่วโมง จากนั้นน้ำตาลสดจะเริ่มหยุดไหล จึงต้องปาดใหม่เพื่อกระตุ้นให้น้ำตาลสดไหลออกมา
ฤดูการปาดตาลโดยมากจะเริ่มประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนเริ่มลดลง และช่อดอกของตาลจะโตเต็มที่ ระยะเวลาการปาดตาลจะต่อเนื่องไปจนถึงประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
การนวดงวงตาล
ขั้นตอนแรกก่อนการปาดตาลนั้นจะต้องนวดงวงตาลก่อน การนวดงวงตาลคือการเอาไม้ที่ผูกเป็นง่าม ไปบีบที่งวงตาล เพื่อกระตุ้นให้งวงผลิตน้ำตาลสด
อุปกรณ์ที่ใช้คือไม้คาบ ซึ่งมี ไม้คาบตัวผู้ สำหรับนวดงวงตาลตัวผู้ และไม้คาบตัวเมียสำหรับนวดช่อดอกตัวเมียหรือปลีตาล โดยไม้คาบตัวเมียจะยาวและแข็งกว่า เนื่องจากช่อดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้
วิธีการนวด ขั้นแรกจะเลือกงวงที่จะนวด 3-5 งวง (สำหรับงวงที่เหลือจะเก็บไว้นวดภายหลัง หรือหักทิ้งไปก็ได้เพื่อไม่ให้มาแย่งอาหาร หรือหากเป็นต้นตัวเมียอาจเก็บไว้ติดผลก็ได้ ) จากนั้นนำเอาไม้คาบไปบีบ ที่งวงตาลเบา ๆ ให้ทั่วทั้งงวง โดยจะทำการนวดติดต่อกันเป็นเวลา 7 -14 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น โดยการนวดนั้นจะเพิ่มแรงให้มากขึ้นเรื่อย ๆ
การแช่ งวงตาล
หลังจากนวดเสร็จแล้ว ให้มัดงวงตาลทั้งหมดรวมกันแล้วแช่งวงในกระบอกใส่น้ำ เป็นเวลา 2 วัน 2 คืน โดยน้ำที่ใช้แช่อาจใช้น้ำเปล่า หรือน้ำผสมดินโคลน ก็ได้ โดยพบว่าน้ำโคลนจะทำให้น้ำตาลสดไหลออกมาดีกว่า แต่ไม่ควรแช่นานเกินไป เพราะจะทำให้ไส้งวงตาลอุดตันทำให้น้ำตาลสดไม่ไหลได้
การปาดตาล
หลังจากแช่งวงตาล เป็นเวลา 2 วัน 2 คืนแล้ว ก็สามารถเริ่มปาดงวงได้ โดยใช้มีดปาดงวงตาล ออกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่ถ้าน้ำตาลสดไหลออกน้อยก็สามารถปาดให้หนากว่านี้ก็ได้
เมื่อปาดแล้วก็นำเอากระบอกไม้ไผ่ หรือภาชนะอื่น ๆ ที่เหมาะสมผูกไว้กับงวงเพื่อรองรับน้ำตาลสดที่ไหลออกมา
โดยในกระบอกไม้ไผ่นั้นจะใส่เปลือกไม้พะยอม หรือไม้เคี่ยมไว้ด้วย เพื่อป้องกันการบูดของน้ำตาลสด ก่อนนำกระบอกไม้ไผ่มาใช้ จะต้องทำการฆ่าเชื้อก่อนโดยการรมควัน ซึ่งจะใช้ฟืนจากกาบใบตาลแห้ง ซึ่งจะทำให้กระบอกมีกลิ่นหอมด้วย
การปาดตาลนั้น จะปาดวันละ 2 ครั้ง คือเช้า และเย็น สาเหตุที่ต้องปาดตาลบ่อยครั้ง เพราะหากทิ้งไว้นานน้ำตาลสดอาจจะหยุดไหลได้
การเคี่ยวตาล
เมื่อได้น้ำตาลสดมาแล้ว ให้นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง ต้มหรือเคี่ยวเพื่อระเหยน้ำออก จนน้ำตาลเริ่มเหนียว จากนั้นจึงนำมากระทุ้ง ด้วยไม้กระทุ้งน้ำตาล จนน้ำตาลแห้ง
เมื่อกระทุ้งจนน้ำตาลแห้งได้ที่แล้ว ก็นำมาใส่ภาชนะบรรจุขายได้ โดยปกติ น้ำตาลสด 20 ลิตร จะสามารถเคี่ยวได้น้ำตาลปึกประมาณ 2.5 กิโลกรัม
วิธีสังเกตน้ำตาลโตนดแท้หรือเทียม
น้ำตาลโตนดแท้ | น้ำตาลโตนดเทียม |
1.สีจะออกแดง | 1.สีจะออกขาว |
2.ถูกอากาศจะเหลว | 2.แข็งอยู่ได้นาน |
3.รสหวานนุ่ม | 3.รสหวานเลี่ยน |
4.มีกลิ่นตาลโตนดชัดเจน | 4.มีกลิ่นตาลโตนดน้อย |
5.เนื้อละเอียด |
อุปกรณ์ช่วยในการปืนต้นตาลโตนด
ในอดีตในการปืนต้นตาลหรือมะพร้าว ต้องใช้ไม้พะองพาด ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก และอันตราย แต่ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ในการปืนต้นไม้ซึ่ง ช่วยให้เราสามารถปืนต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นมะพร้าวหรือต้นตาลได้อย่างสะดวก ซึ่งนอกจาก สินค้าต่างประเทศแล้ว ปัจจุบัน ทางกรมวิชาการเกษตร ของเรา ก็ได้มีการพัฒนา เครื่องปีนมะพร้าว ซึ่งใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่แพ้ของต่างประเทศอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.phetchaburi.doae.go.th/pb2013/tan_phet/menu_tan.htm